คมนาคมเศรษฐกิจ

กลุ่มดวงฤทธิ์คว้างานออกแบบสุวรรณภูมิ เทอร์มินัล 2

1.4kviews

ทอท.ไฟเขียวกลุ่มดวงฤทธิ์ ชนะงานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 329.5 ล้านบาท แจงละเอียดยิบ ปัดกลุ่มที่ปรึกษาSA ที่ได้คะแนนเทคนิคสูงสุด ตกรอบ เหตุจากผิดทีโออาร์ คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และแล้วเสร็จในปลายปี2564  รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 30 ล้านคนต่อปี

ในการประชุมบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ได้อนุมัติให้ทอท.ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีผู้ยื่นซองประมูลจำนวนรวม 4 ราย โดย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอสเอ กรุ๊ป ได้คะแนนสูงสุด แต่ไม่ได้ยื่นต้นฉบับใบเสนอราคา ตามที่ทอท.กำหนดในTOR  จึงได้เชิญกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ซึ่งได้คะแนนเทคนิคสูงอันดับถัดไปมาต่อรองราคาตามเงื่อนไข โดยเสนอราคาค่าออกแบบเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 349 ล้านบาท และคณะกรรมการจัดหาพัสดุได้ดำเนินการต่อรอง รวมเป็นค่าจ้างออกแบบทั้งสิ้น 329.5 ล้านบาท โดยแบบอาคารผู้โดยสาร ที่นำเสนอเป็นคอนเซ็ปต์ Forest Airport Terminal มีการจัดพื้นที่บางส่วนสร้างระบบนิเวศน์ป่า สร้างความร่มรื่น ส่วนการออกแบบกลุ่มบริษัทที่ปรึกษากลุ่มบริษัทร่วมทำงานเอส เอ เป็นคอนเซ็ปต์ดอกบัว

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบไปด้วย 1. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบินA มีพื้นที่ประมาณ348 แสนตารางเมตร เป็นอาคารแบบมัลติ-เทอร์มินัล สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร โดยมีหลุมจอดประมาณ 14 หลุมจอด 2. งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A,B และ C 3.งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building : AMB)ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคารประมาณ8.4 หมื่นตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ในอาคารได้ประมาณ1,000-1,500 คัน 4.งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยหลัก(MTB)และอาคารเทียบเครื่องบินAในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport  Rail Link มีระยะทางรวมทั้งระบบยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร 5.งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน 6.งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยาน เพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออกอาคารผู้โดยสารหลังที่2 และ7. งานก่อสร้างระบบสาธาณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการฯ