ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นาย ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดและ นายทัตสึโร่ ทาคามิ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้าไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในงาน “ฉลองความสำเร็จยอดการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าครบ 10 ล้านคัน”เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ณ โรงงานโตโยต้า สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ
ก้าวแรกที่มุ่งมั่น สู่สิบล้านคันของความสำเร็จ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ภายใต้ปรัชญา “ส่งเสริมพัฒนาการอย่างยั่งยืนของสังคมและประเทศที่โตโยต้าเข้าไปดำเนินธุรกิจ” ส่งผลให้ธุรกิจรถยนต์ของโตโยต้าเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จวบจนปัจจุบันกว่า 56 ปี ภายใต้การลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากโรงงานผลิต 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์สำโรง จ.สมุทรปราการ โรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานประกอบรถยนต์บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยความร่วมมือร่วมใจ และความทุ่มเทของพนักงานทุกคน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด นำมาสู่การบรรลุยอดการผลิตครบ 10 ล้านคัน และเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จของโตโยต้า
การก้าวย่างสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคงของโตโยต้าในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 6 ยุคด้วยกัน เริ่มจากยุคก่อร่างสร้างฐาน“ก้าวแรกแห่งการร่วมเดินเคียงข้างคนไทย”(ระหว่างพ.ศ. 2505 – 2515) โดยก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกขึ้นที่ ต. สำโรงเหนือ เพื่อประกอบรถรุ่นแรก คือโตโยต้า ไดน่า เจเค 170 และ โคโรน่า อาร์ที 40ตามด้วย ไฮลักซ์ อาร์เอ็น 10 และ โคโรลล่า เคอี 20ด้วยอัตราการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 25
ยุคที่ 2คือ ยุคแห่งการพัฒนา “มุ่งมั่นบนเส้นทางแห่งการพัฒนาและเสริมสร้างความเชื่อมั่น”(ระหว่างพ.ศ. 2516 – 2525) ด้วยการขยายกำลังการผลิต ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 2 ใน ต. สำโรงใต้ จ. สมุทรปราการ เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการประกอบโดยใช้สายพานการผลิตระบบแขนกลอัตโนมัติเชื่อมตัวถังและระบบเคลือบสีป้องกันสนิม แคทไอออนอีดีพี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยยอดการผลิตในประเทศครบ 100,000 คัน ในปี 2523
ยุคที่3 ยุคหน้าโตโยต้า “มุ่งหน้าสร้างความมั่นคง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทย”(ระหว่างพ.ศ. 2526 – 2535) ได้แสดงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ ด้วยการร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตเครื่องยนต์สำหรับรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งออกพร้อมแนะนำเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทวินแคม 16 วาล์วเป็นรายแรกของประเทศในรุ่น“โคโรลล่า เออี92”ทำให้สามารถประกอบรถยนต์ได้ครบ 500,000 คัน ในปี 2535
ยุคที่ 4 ยุคประชายานยนต์ “สร้างสรรค์ยนตรกรรม เพื่อตอบสนองทุกความต้องการ”(ระหว่างพ.ศ. 2536 – 2545) เปิดโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ เพื่อผลิตรถยนต์นั่งโดยในปี 2539 สามารถผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน ด้วยกำลังการผลิตจาก 3 โรงงานหลักรวมถึงแนะนำเครื่องยนต์ระบบวาล์วอัจฉริยะ VVT-I ครั้งแรกใน “โคโรลล่า อัลติส” และเปิดตัวรถ ”โตโยต้าโซลูน่า” รุ่นแรกที่วิศวกรชาวไทยมีส่วนร่วมในการออกแบบและใช้ชิ้นส่วนประกอบภายในประเทศกว่าร้อยละ70
ยุคที่5ยุคเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม“ยนตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมบูรณาการความรับผิดชอบเพื่อสังคมไทย”(ระหว่างพ.ศ. 2546 – 2555) โดยเป็นบริษัทแรกที่แนะนำระบบไฮบริดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้รับการยกระดับให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกหลักของรถกระบะขนาด1 ตัน ในกลุ่มบริษัทโตโยต้า ภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) เพื่อผลิตรถกระบะ “ไฮลักซ์” และรถเอนกประสงค์“ฟอร์จูนเนอร์”และในปี 2550ได้ก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ขึ้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองรับการขยายตัว ในประเทศ และส่งออกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้โตโยต้าสามาถผลิตรถยนต์ได้ครบ 5 ล้านคัน ในปี 2553 ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของการผลิตครบ 1 ล้านคันในอดีต
ยุคที่ 6 ยุคนวัตกรรมแห่งความยั่งยืน “สร้างสรรค์นวัตกรรมการขับเคลื่อน“ที่ดียิ่งกว่า” เพื่อทุกคน”(ระหว่างพ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน) แนะนำยารีส เอทีพ (Yaris ATIV)อีโคคาร์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และToyota C-HR ที่มาพร้อมกับ 4 เทคโนโลยีใหม่มาตรฐานระดับโลกของรถโตโยต้า ได้แก่ ระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 สถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่(Toyota New Global Architecture หรือ TNGA) มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ระดับโลกของรถโตโยต้า (Toyota Safety Sense หรือ TSS) และระบบที่เชื่อมต่อรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียว (Toyota T-Connect Telematics)
โตโยต้า ยืนหยัดเคียงข้างคนไทย เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 56 ปี โตโยต้ามีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนร่วมกับภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ที่ล้ำหน้า ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศให้สูงขึ้น จนก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 240,000 คน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับแรก (first tier suppliers) 172ราย และผู้แทนจำหน่ายฯ 155 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ
ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในปัจจุบัน คือ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้ยึดมั่นอยู่ในคุณภาพสูงสุด ภายใต้ระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือToyota Production System (TPS) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ปัจจุบันการผลิตของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีกำลังการผลิต750,000 คันต่อปี มีพนักงานกว่า 14,500คนโดยยอดจำนวนการผลิต 10 ล้านคัน เกิดจากโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าทั้ง3 แห่ง แบ่งออกเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 5.8 ล้านคัน และส่งออกจำนวน 4.2ล้านคัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยกว่า 2,589,000 ล้านบาท*